“พระธาตุหล้าหนอง” หรือ “พระธาตุกลางน้ำ” เป็นพระธาตุเก่าแก่จมอยู่กลางแม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในพระธาตุที่อยู่ในตำนานพระอุรังคธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ (พระพนม) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน ซึ่งแต่เดิมเจดีย์พระธาตุหล้าหนอง ตั้งอยู่บนฝั่งริมน้ำในวัดพระธาตุหนองคาย
ในปี พ.ศ. 2109 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้สร้างพระมหาเจดีย์ครอบอุโมงค์หล้าหนองคาย ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแบบศิลปะล้านช้าง ตั้งชื่อว่า “พระธาตุหล้าหนองคาย” ตามบันทึกของหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาค ๗๐ บันทึกไว้ว่า “พระธาตุเมืองหนองคายได้พัง เมื่อวันที่ ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีพุทธศักราช ๒๓๙๐ เวลาใกล้ค่ำ” หักออกเป็น 3 ท่อน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉากโดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน ต่อมาถูกกระแสน้ำกัดเซาะจึงอยู่กลางลำน้ำโขงห่างจากชายฝั่งปัจจุบันประมาณ 180 เมตร ซึ่งจะสามารถมองเห็นฐานพระธาตุได้ เมื่อน้ำโขงลดระดับ หากนับตั้งแต่วันที่พระธาตุล้มลงจนถึงวันนี้เป็นเวลานานกว่า ๑๗๐ ปีแล้ว
ปัจจุบันเทศบาลเมืองหนองคายร่วมกับชาวชุมชนวัดธาตุ สร้างองค์พระธาตุหล้าหนองจำลองขึ้นมาใหม่ เมื่อ ปี พ.ศ. 2548 บริเวณริมแม่น้ำโขงใกล้องค์พระธาตุเจดีย์เดิม มีขนาดฐานกว้าง 10 คูณ 10 เมตร สูง 15 เมตร พร้อมทั้งเสริมแนวการป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะจากแม่น้ำโขง พระธาตุหล้าหนองเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดหนองคาย โดยจะมีการจัดงานสมโภชพระธาตุในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นประจำทุกปี